Panic Selling: เช็คให้แน่ใจก่อนที่จะขายขาดทุน
Panic Selling: เช็คให้แน่ใจก่อนที่จะขายขาดทุน
Panic Selling คืออะไร หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆให้ลองนึกถึงเช้าวันหนึ่งที่คุณตื่นขึ้นมาแล้วพบกับข่าวบนโลกโซเชียล หรือแม้แต่แจ้งเตือนทางโทรศัพท์ ว่าตลาดหุ้นร่วงหนักในเพียงชั่วข้ามคืน พอร์ตการลงทุนของคุณที่เมื่อสัปดาห์ก่อนยังดูสดใสและดูมีอนาคต ตอนนี้กลายเป็นสีแดงไปแล้ว ความกลัวกำลังเพิ่มขึ้นในตอนที่คุณเห็นยอดตัวเลขของพอร์ตการลงทุนลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมีเสียงในหัวคุณดังขึ้นว่า “ขายตอนนี้ ก่อนที่จะเสียมากกว่านี้!” นี่คือตัวอย่างของหลุมพรางทางอารมณ์ที่เรียกว่า Panic Selling
Panic Selling เกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนที่กำลังเต็มไปด้วยความกลัวและความไม่แน่นอนทางอารมณ์ได้ตัดสินใจขายสินทรัพย์ในช่วงที่ตลาดอยู่ในช่วงขาลง เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนที่มากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่การ Panic Selling กลับกลายเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและทำให้นักลงทุนหลายคนเกิดความเสียดาย รวมไปถึงทำให้เป้าหมายทางการเงินระยะยาวของหลายคนพังลงได้
ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจจิตวิทยาการลงทุนที่อยู่เบื้องหลัง Panic Selling ว่ามันส่งผลต่อการลงทุนอย่างไร และกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงหลุมพรางทางอารมณ์นี้ เพื่อปกป้องเป้าหมายทางการเงินและการลงทุนของคุณในระยะยาว
จิตวิทยาของมนุษย์ ที่อยู่เบื้องหลังการเกิด Panic Selling
Michael Nagle / Bloomberg / Getty Images
ธรรมชาติของมนุษย์มีสัญชาตญาณที่ฝังลึกในการเอาตัวรอด ลองจินตนาการว่าคุณกำลังยืนอยู่ในโรงหนังที่เต็มไปด้วยผู้คน ทันใดนั้นเอง มีคนตะโกนขึ้นว่า “ไฟไหม้!” แม้คุณจะไม่เห็นควันไฟ หรือไม่แน่ใจว่ามีไฟไหม้จริงๆหรือเปล่าด้วยซ้ำ แต่ผู้คนรอบตัวรวมถึงตัวคุณเองก็ต้องเริ่มวิ่งหนีไปที่ประตูทางออก และในโลกของการเงินและการลงทุนแล้ว สัญชาตญาณเดียวกันนี้แสดงออกมาในรูปแบบของ Panic Selling
- ความกลัวและการเกลียดการสูญเสีย ( Loss Aversion )
หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด Panic Selling คือแนวคิดเรื่อง Loss Aversion ซึ่งเป็นแนวคิดในเชิงจิตวิทยาการเงินที่ระบุว่า ความเจ็บปวดจากการสูญเสียเงินลงทุนมีผลกระทบทางอารมณ์มากกว่าความสุขที่ได้จากการทำกำไร
พูดง่ายๆ ก็คือ ความกลัวที่จะเสียเงิน 1,000 ดอลลาร์นั้นรุนแรงกว่าความดีใจที่ได้กำไร 1,000 ดอลลาร์
ในช่วงที่ตลาดกำลังตกต่ำ ความกลัวนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น นักลงทุนจะโฟกัสไปที่การหลีกเลี่ยงการขาดทุนมากกว่าการทำกำไร ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจที่ขาดเหตุผล เช่น การขายสินทรัพย์ทิ้งในราคาที่ต่ำกว่าที่ควร แทนที่จะยึดตามแผนการลงทุนระยะยาวที่วางไว้
-
พฤติกรรมตามฝูงชน
วกกลับมาที่ตัวอย่างในการที่มีใครสักคนตะโกนว่า "ไฟไหม้" ในโรงหนัง พฤติกรรมการวิ่งตามคนอื่นโดยไม่คิด คือสิ่งที่เรียกว่า Herd Behavior หรือ พฤติกรรมตามฝูงชน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด Panic Selling ในตลาดการเงิน
เมื่อคุณเห็นคนอื่นเริ่มขายหุ้น คุณจะรู้สึกอยากทำตามโดยอัตโนมัติ โดยความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ “คนอื่นรู้ข้อมูลอะไรที่เราไม่รู้หรือเปล่า?”
พฤติกรรมนี้ยิ่งทำให้ตลาดผันผวนมากขึ้น เมื่อมีคนขายมากขึ้น ราคาก็ยิ่งตกลงต่อเนื่อง กลายเป็นวงจรที่สร้างความตื่นตระหนกในตลาด และยิ่งกระตุ้นให้คนขายเพิ่มขึ้นไปอีก
-
อคติที่มีต่อเหตุการณ์ล่าสุด (Recency Bias)
Recency Bias คืออคติทางความคิดที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดมากเกินไป จนทำให้มันกลายเป็นตัวชี้นำการตัดสินใจในปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่น หากคุณเห็นตลาดหุ้นดิ่งลงในวันนี้ คุณอาจเชื่อได้ว่าแนวโน้มของวันพรุ่งนี้ก็จะตกต่ำเช่นเดียวกัน แม้ว่าประวัติศาสตร์จะแสดงให้เราเห็นตลอดว่าตลาดหุ้นมักจะฟื้นตัวได้ในระยะยาวก็ตาม
อคติแบบนี้ทำให้นักลงทุนตัดสินใจขายสินทรัพย์ทิ้ง เพราะกลัวว่าตลาดจะยังคงร่วงลงเรื่อยๆ แทนที่จะมองภาพรวมในระยะยาวและยึดตามข้อมูลในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวของตลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
บทเรียนราคาแพงจาก Panic Selling: ตัวอย่างจากเรื่องจริง
-
วิกฤตการเงินปี 2008 (The 2008 Financial Crisis)
ในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 นักลงทุนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกเมื่อเห็นตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างหนัก ดัชนี S&P 500 สูญเสียมูลค่าเกือบ 57% จากเดือนตุลาคม 2007 จนถึงมีนาคม 2009 ความกลัวว่าจะสูญเสียเงินมากขึ้นทำให้นักลงทุนจำนวนมากขายหุ้นออกไปในช่วงที่ราคาตกต่ำที่สุด
แต่สำหรับนักลงทุนที่อดทนถือครองสินทรัพย์ต่อไป หรือแม้แต่ซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงที่ตลาดตกต่ำ พอร์ตการลงทุนของพวกเขากลับฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีถัดมา ภายในเดือนมีนาคม 2013 ดัชนี S&P 500 ฟื้นตัวเต็มที่ และภายในปี 2021 ดัชนีนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
-
วิกฤตตลาดช่วง COVID-19 (The COVID-19 Market Crash)
ในเดือนมีนาคม 2020 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ในตลาดหุ้น ดัชนี S&P 500 ร่วงลงกว่า 30% ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ นักลงทุนจำนวนมากขายหุ้นออกไปเพราะกลัวว่าตลาดจะทรุดหนักยิ่งขึ้น ส่งผลให้พวกเขาขายหุ้นแทบหมดบัญชีเพื่อป้องกันการขาดทุนที่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าที่พวกเขาจะรับไหว
อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปีเดียวกัน ตลาดกลับฟื้นตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง และนักลงทุนที่ตัดสินใจถือหุ้นต่อ หรือซื้อเพิ่มในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง กลับได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
ทำไม Panic Selling ถึงส่งผลเสียต่อการลงทุนระยะยาว
การขายสินทรัพย์ด้วยความตื่นตระหนก (Panic Selling) อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อพอร์ตการลงทุนและสุขภาพทางการเงินโดยรวมของคุณ นี่คือเหตุผลว่าทำไมการ Panic Selling ถึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง:
-
ขาดทุนทันที: การขายสินทรัพย์ในช่วงที่ตลาดตกต่ำเท่ากับคุณยืนยันผลขาดทุนนั้นทันที แทนที่จะรอให้ตลาดฟื้นตัว แต่คุณกลับเปลี่ยนการขาดทุนบนกระดาน ให้กลายเป็นการขาดทุนจริงที่คุณไม่สามารถกู้คืนได้อีกแล้ว
-
พลาดโอกาสการฟื้นตัวของตลาด: ในอดีต ตลาดการเงินมักฟื้นตัวหลังจากช่วงตกต่ำเสมอ หาก Panic Selling เกิดขึ้นกับคุณในช่วงตลาดขาลง คุณมีความเสี่ยงที่จะ พลาดโอกาสในการฟื้นตัวและการกลับมาทำกำไร เพราะในหลายๆครั้ง ตลาดมักจะเด้งกลับแรงที่สุดหลังจากการดิ่งลงครั้งใหญ่
-
สูญเสียพลังของการทำกำไรทบต้น: การลงทุนสร้างความมั่งคั่งในระยะยาวต้องใช้พลังของการทบต้น (Compound Growth) แต่หากคุณขายสินทรัพย์ออกไปก่อนเวลาอันควร คุณจะทำให้กระบวนการนี้หยุดชะงัก ส่งผลให้ผลตอบแทนระยะยาวของคุณลดลง
-
คุณต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น: การซื้อขายสินทรัพย์บ่อยครั้งอาจทำให้คุณต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายและภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งกัดกินผลตอบแทนของคุณในระยะยาว ยิ่ง Panic Selling บ่อยเท่าไร คุณก็ยิ่งเสียค่าธรรมเนียมมากขึ้นเท่านั้น
วิธีหลีกเลี่ยง Panic Selling
การหลีกเลี่ยง Panic Selling ต้องอาศัยทั้งความมีวินัยทางอารมณ์และการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้คุณควบคุมความกลัวและความวิตกกังวลในช่วงที่ตลาดผันผวน นี่คือวิธีที่คุณสามารถใช้จัดการกับอารมณ์อย่างถูกวอธีและไม่ตัดสินใจขายสินทรัพย์อย่างตื่นตระหนก เมื่อเกิดภาวะตลาดขาลง
-
วางแผนการลงทุนระยะยาว
การลงทุนเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น ก่อนที่คุณจะเริ่มลงทุน คุณควรสร้างแผนการเงินระยะยาวที่ชัดเจน โดยระบุเป้าหมายการเงิน ความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ และระยะเวลาการลงทุนของคุณ
การมีแผนที่ชัดเจนจะช่วยให้คุณโฟกัสที่เป้าหมายระยะยาว และไม่หวั่นไหวต่อความผันผวนของตลาดในระยะสั้น
สิ่งที่ต้องทำ:
เขียนเป้าหมายการลงทุนของคุณลงในโน็ต และทบทวนเป็นประจำเพื่อเตือนตัวเองว่าทำไมคุณถึงเริ่มลงทุนตั้งแต่แรก
-
กระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน
การกระจายความเสี่ยงช่วยให้คุณลดผลกระทบจากการขาดทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง และพอร์ตการลงทุนที่หลากหลายจะช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดภาวะตลาดตกต่ำ
เกร็ดจากผู้เชี่ยวชาญ:
เพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนในพอร์ตของคุณ
-
ตั้งระบบการลงทุนอัตโนมัติ
การตั้งระบบการลงทุนแบบอัตโนมัติ เช่น Dollar-Cost Averaging จะช่วยให้คุณมีวินัยในการลงทุน โดยการลงทุนจำนวนเงินที่เท่ากันในช่วงเวลาที่กำหนด ไม่ว่าตลาดจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม
ประโยชน์ของระบบ:
ระบบอัตโนมัติช่วยแยกอารมณ์ของคุณออกจากการตัดสินใจลงทุน และช่วยให้คุณซื้อสินทรัพย์ได้อย่างสม่ำเสมอ แม้ในช่วงที่ตลาดผันผวน
-
โฟกัสที่ปัจจัยพื้นฐาน
ในช่วงที่ตลาดผันผวน มันเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะหลงไปกับข่าวร้ายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่คุณควรทำคือ โฟกัสที่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่คุณลงทุน
ตอบตัวเองให้ได้ว่า "ธุรกิจนี้ยังแข็งแกร่งไหม?"
"โมเดลธุรกิจยังมีศักยภาพในการเติบโตระยะยาวหรือเปล่า?"
สิ่งที่ต้องทำ:
ติดตามรายงานผลประกอบการรายไตรมาสและข่าวสารของบริษัทที่คุณลงทุน เพื่อให้มั่นใจว่าคุณตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลที่ถูกต้อง
-
อย่าเช็คพอร์ตบ่อยเกินไป
การเข้าดูหน้าพอร์ตการลงทุนทุกวันอาจทำให้คุณเกิดความวิตกกังวลมากเกินไป และมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจอย่างเร่งด่วนและไร้เหตุผล
สิ่งที่ควรทำ:
กำหนดเวลาที่แน่นอนในการเข้าเช็คพอร์ต เช่น ทุกไตรมาส หรือทุก 6 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่นกับกระแสข่าวและความผันผวนระยะสั้น
คำแนะนำ:
ปิดการแจ้งเตือน จากแอพลิเคชั่นการลงทุนของคุณ เพื่อลดแรงกระตุ้นที่ทำให้คุณอยากดูพอร์ตตลอดเวลา
-
เพิ่มพูนความรู้ด้านการลงทุน
การเข้าใจ วงจรตลาดและแนวโน้มในอดีต จะช่วยให้คุณมองเห็นภาพรวมได้ชัดเจน และลดความกลัวเมื่อเกิดภาวะตลาดตกต่ำ
คำแนะนำ:
อ่านหนังสือด้านการลงทุน เข้าร่วมสัมมนา หรือศึกษาข้อมูลจากแหล่งข่าวการเงินที่น่าเชื่อถือ เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดการเงิน
จัดการอารมณ์อย่างชาญฉลาดเพื่อการลงทุน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อารมณ์มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ความกลัวและความโลภเป็นแรงผลักดันที่ทรงพลัง แต่หากปล่อยให้ครอบงำโดยปราศจากการควบคุม อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
ทริคง่ายๆในการจัดการอารมณ์ในการเทรดและการลงทุน:
- ฝึกสติและเทคนิคการจัดการความเครียดก่อนเข้าสู่ตลาด
- ปรึกษานักวางแผนการเงินเพื่อรับฟังความเห็นจากหลายๆมุมมอง
- เตือนตัวเองอยู่เสมอว่าตลาดที่อยู่ในภาวะตกต่ำเป็นแค่เรื่องชั่วคราว
สรุป
Panic Selling เป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในช่วงที่ตลาดผันผวน แต่ซ้ำร้ายกว่านั้นมันกลับเป็นหนึ่งในความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุด ที่เกิดขึ้นกับนักลงทุน เพราะการตัดสินใจขายสินทรัพย์ด้วยความกลัวมักจะนำไปสู่การขาดทุนและพลาดโอกาสในการฟื้นตัวของตลาด
อย่างไรก็ตาม หากคุณเข้าใจปัจจัยทางจิตวิทยาที่กระตุ้นให้เกิด Panic Selling และนำกลยุทธ์ที่ปฏิบัติได้จริงมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงหลุมพรางทางอารมณ์เหล่านี้ คุณจะสามารถปกป้องพอร์ตการลงทุนของคุณ และเดินหน้าสู่เป้าหมายทางการเงินในระยะยาวได้อย่างมั่นคง
เหมือนกับคำพูดของ Warren Buffett ที่เคยกล่าวไว้ว่า
“จงกลัวในเวลาที่คนอื่นโลภ และจงโลภในเวลาที่คนอื่นกลัว”
การสงบสติอารมณ์ มุ่งมั่นกับเป้าหมาย และมีวินัยในการลงทุน ในช่วงที่ตลาดผันผวน เพราะมันคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวได้อย่างแน่นอน
หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน