สหรัฐฯ vs. ยุโรป: ตลาดหุ้นไหนเหมาะกับพอร์ตการลงทุนของคุณ?

สหรัฐฯ vs. ยุโรป: ตลาดหุ้นไหนเหมาะกับพอร์ตการลงทุนของคุณ?

ผู้เริ่มต้น
Jan 13, 2025
เปรียบเทียบตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป: จุดเด่น จุดด้อย และวิธีสร้างพอร์ตการลงทุนที่มั่นคงด้วยการผสมผสานตลาดทั้งสอง เพื่อผลตอบแทนระยะยาวและลดความผันผวนที่อาจส่งผลต่อเงินลงทุน

สหรัฐฯ vs. ยุโรป: ตลาดหุ้นไหนเหมาะกับพอร์ตการลงทุนของคุณ?

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ต่างก็เป็นตลาดที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ด้วยจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดดเด่นในเรื่องการเติบโตจากนวัตกรรมและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ขณะที่ตลาดยุโรปมุ่งเน้นความมั่นคงและสร้างรายได้ผ่านเงินปันผล

แต่การเลือกลงทุนไม่ใช่แค่การทายว่าตลาดไหนจะชนะในระยะสั้น เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเข้าใจว่าตลาดแต่ละแห่งมีโครงสร้างอย่างไร มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อการเติบโต และจะนำจุดแข็งของแต่ละตลาดมาผสมผสานในพอร์ตการลงทุนของเราได้อย่างไร

ในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าอะไรคือความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ผลตอบแทนในอดีตเป็นอย่างไร และเพราะเหตุใดการกระจายความเสี่ยงระหว่างสองตลาดนี้จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณา เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่มั่นคงและพร้อมรับทุกความผันผวนในอนาคต

 


 

ทำความเข้าใจดัชนีของตลาดหุ้น

ที่มาของรูปภาพ Scott Heins/Getty Images

 

ก่อนที่จะเปรียบเทียบผลตอบแทนในของแต่ละตลาด สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจ "ดัชนี" หุ้นของสหรัฐฯ และยุโรปคืออะไร

ในสหรัฐฯ ดัชนีที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ S&P 500 ดัชนีนี้สะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทขนาดใหญ่ 500 แห่งในหลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศสหรัฐอเมริกา ดัชนีนี้มีน้ำหนักส่วนมากเทไปทางหุ้นเทคโนโลยีและสินค้าอุปโภคบริโภค นำหน้ามาโดยบริษัทอย่าง Apple, Microsoft, Amazon และ Alphabet ที่ต่างมีส่วนสำคัญในมูลค่าของดัชนี

ส่วนในยุโรป ดัชนีหลักของพวกเขาคือ Stoxx Europe 600 และ FTSE 100 โดยดัชนี Stoxx 600 สะท้อนมูลค่ารวมของบริษัทจาก 17 ประเทศในยุโรป โดยประกอบไปด้วยหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม การเงิน และกลุ่มพลังงานที่หลากหลาย ส่วนดัชนี FTSE 100 ของสหราชอาณาจักร มุ่งเน้นบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอนเท่านั้น โดยมีหุ้นจากธนาคาร บริษัทน้ำมัน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นบริษัทที่โดดเด่นและส่งผลต่อดัชนี

แม้ว่าทั้งสองภูมิภาคมีดัชนีหุ้นที่เรียกได้ว่าใช้วัดสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศเลยก็ว่าได้ แต่โครงสร้างภาคธุรกิจที่แตกต่างกันอย่างมากคือกุญแจสำคัญที่ช่วยอธิบายพฤติกรรมของตลาดแต่ละแห่ง

 


 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ: การเติบโตที่รวดเร็วและนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก

ที่มาของรูปภาพ Bryan R. Smith / AFP / Getty Images

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตลาดที่มีผลงานการเติบโดดีที่สุดในโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่ตลาดนี้มีการกระจุกตัวของหุ้นเทคโนโลยีในสัดส่วนที่สูงมาก

บริษัทอย่าง Apple, Amazon และ Tesla ไม่เพียงแต่เติบโตอย่างรวดเร็วในหลายปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นธุรกิจที่ทันสมัยด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ความโดดเด่นนี้ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดึงดูดนักลงทุนที่เน้นการเติบโต (Growth Investors) ซึ่งยอมรับความเสี่ยงที่สูงได้มากขึ้นเพื่อแลกกับโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

แต่การที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พึ่งพาหุ้นเทคโนโลยีอย่างหนัก ก็ส่งผลให้มีความผันผวนมากเช่นกัน ในช่วงที่หุ้นเทคโนโลยีได้รับความนิยม ตลาดโดยรวมก็มักพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก แต่หากความสนใจในหุ้นกลุ่มนี้ลดลง ตลาดหุ้นก็อาจเผชิญกับการปรับตัวลงอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 ดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งเน้นหุ้นเทคโนโลยี ปรับตัวลดลงมากกว่า 30% ภายในเวลาเพียงปีเดียว

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงเปรียบเสมือนการเดิมพันในอนาคต หากคุณเชื่อว่านวัตกรรมจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ หุ้นสหรัฐฯ คือสิ่งที่คุณควรมีในพอร์ตการลงทุนของคุณ แต่หากคุณมองหาความมั่นคงหรือรายได้จากเงินปันผล ตลาดหุ้นยุโรปอาจตอบโจทย์คุณได้มากกว่า

 


 

ตลาดหุ้นยุโรป: ความมั่นคงและเงินปันผล

ตลาดหุ้นเยอรมันในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ที่มา : REUTERS/Timm Reichert

 

ตลาดหุ้นยุโรปมีเรื่องราวที่แตกต่างจากตลาดสหรัฐฯ อย่างชัดเจน โดยดัชนี Stoxx 600 และ FTSE 100 ประกอบไปด้วยบริษัทในกลุ่มธนาคาร อุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัทเหล่านี้มักเป็นธุรกิจที่เรียกได้ว่าเติบโตเต็มที่แล้ว โดยพวกเขามักจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงและการจ่ายเงินปันผล มากกว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนกับนโยบายของบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ

ยกตัวอย่างบริษัทที่เราคุ้นเคยกันอย่างเช่น Nestlé บริษัทจากสวิตเซอร์แลนด์ที่มีประวัติยาวนานกว่า 150 ปี Nestlé ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการใหม่ ๆ แต่เน้นไปที่สร้างรายได้แบบดั้งเดิมจากการขายสินค้าที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กาแฟ อาหารสำหรับเด็ก และน้ำดื่ม

การดำเนินงานของบริษัทในยุโรปอาจไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ แต่มีความคาดเดาได้ง่ายกว่า และสิ่งที่ดึงดูดใจนักลงทุนคืออัตราเงินปันผลที่สูงกว่า ตัวอย่างเช่น บริษัทในดัชนี FTSE 100 ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยประมาณ 4% เมื่อเทียบกับเพียง 1.5% ในดัชนี S&P 500

จุดเด่นนี้ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปมีการปรับตัวได้ดีมากกว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักผันผวนรุนแรง ตลาดยุโรปมักเคลื่อนไหวอย่างมั่นคงกว่า ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความสมดุลให้พอร์ตการลงทุนในระยะยาว

 


 

ผลตอบแทนในระยะยาว: สหรัฐฯ เทียบกับยุโรป

ตลาดซื้อขายหุ้นในลอนดอน ที่มา : Hollie Adams/Bloomberg

 

เมื่อพูดถึงผลตอบแทนระยะยาว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีผลการดำเนินงานที่เหนือกว่าตลาดยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2009 โดยดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 13% ขณะที่ดัชนี Stoxx 600 ของยุโรปให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% ต่อปี

เหตุผลของความแตกต่างนี้มาจากโครงสร้างของภาคธุรกิจ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการเน้นหนักในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและบริษัทที่เติบโตสูง ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เช่น การเติบโตของอินเทอร์เน็ต คลาวด์คอมพิวติ้ง และอีคอมเมิร์ซ

ในทางตรงกันข้าม ตลาดยุโรปต้องเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชะลอตัว ความท้าทายด้านกฎระเบียบ และการพึ่งพาอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มากกว่าสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าตลาดมีการเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร ผลตอบแทนที่ดีในอดีตไม่ได้การันตีอนาคตเสมอไป ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นปี 2000 ตลาดยุโรปมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากฟองสบู่เทคโนโลยีแตก และในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน หุ้นยุโรปที่มีความมั่นคงและให้เงินปันผลสูงมักได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า

ดังนั้น แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเรียกได้ว่าเป็นผู้นำในปัจจุบัน แต่นักลงทุนมีความเชี่ยวชาญจะรู้ได้ว่า การปรับตัวได้เร็วและความมั่นคงของตลาดยุโรปยังคงมีบทบาทสำคัญในพอร์ตการลงทุนระยะยาว

 


 

แล้วนักลงทุนควรทำอย่างไร?

 

บทเรียนสำคัญที่ได้จากการเปรียบเทียบยักษ์ใหญ่ทั้งสองตลาดนี้ก็คือ การกระจายความเสี่ยง การเดิมพันพอร์ตการลงทุนทั้งหมดไว้กับตลาดเดียว ไม่ว่าจะเป็นตลาดสหรัฐฯ หรือยุโรป ถือเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก เพราะแต่ละตลาดมีจุดเด่นและจุดด้อยของตัวเอง และนักลงทุนที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าการกระจายการลงทุนในหลายตลาดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยง

หากคุณกำลังมองหาการลงทุนที่มีอัตราการเติบโตสูงและสามารถรับมือกับความผันผวนได้มาก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ควรเป็นส่วนสำคัญในพอร์ตการลงทุนของคุณ แต่หากคุณต้องการความมั่นคงและรายได้จากเงินปันผล การลงทุนตลาดหุ้นยุโรปก็ไม่ควรถูกมองข้ามเช่นกัน

อีกสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ความผันผวนของค่าเงิน หากคุณลงทุนในหุ้นยุโรปและสหรัฐในฐานะนักลงทุนต่างประเทศ ผลตอบแทนของคุณอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินยูโร ปอนด์ และดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคุณ 

การผสมผสานระหว่างตลาดทั้งสองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างพอร์ตการลงทุนที่มั่นคงและมีความสมดุลในระยะยาว

 


 

สรุป

นักลงทุนหลายคนมักเปลี่ยนเรื่องการลงทุนให้กลายเป็นการแข่งขันหรือเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือยุโรปดีกว่ากัน? ภูมิภาคใดจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในทศวรรษหน้า?

แต่ความจริงคือ การลงทุนไม่ใช่เกมที่ต้องมีผู้ชนะหรือผู้แพ้ ทั้งสองตลาดมีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพอร์ตการลงทุนและกระจายความเสี่ยงได้อย่างสมดุล

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เปรียบเสมือน "เครื่องยนต์" ที่ขับเคลื่อนพอร์ตการลงทุนของคุณด้วยนวัตกรรมและการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปทำหน้าที่เป็น "ตัวรักษาสมดุล" ที่ให้รายได้ที่มั่นคงและช่วยลดความผันผวนในพอร์ตของคุณในช่วงที่อาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน

แน่นอนว่าคำตอบก็คือไม่มีตลาดใดที่ดีกว่ากัน เพราะทั้งสองตลาดต่างก็ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่แตกต่างกันได้อย่างดีเยี่ยม การตัดสินใจที่ชาญฉลาดไม่ใช่การเลือกระหว่างตลาดใดตลาดหนึ่ง แต่มันคือการผสมผสานทั้งสองตลาดในพอร์ตการลงทุนอย่างเหมาะสม

 

 

  IUX/ CONTENT WRITER

 🕘17 Jan 2025 | 1:00 PM

หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน