คาดการณ์แนวโน้มหุ้นด้วยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

คาดการณ์แนวโน้มหุ้นด้วยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

ขั้นสูง
Nov 07, 2024
ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มหุ้นและการเคลื่อนไหวของตลาดได้อย่างไร เพื่อเสริมการวิเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพ

คาดการณ์แนวโน้มหุ้นด้วยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

 

ตลาดหุ้นเป็นระบบที่มีความซับซ้อนซึ่งได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย ทั้งกำไรของบริษัท เหตุการณ์ระดับโลก และปัจจัยทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักวิเคราะห์และผู้สนใจตลาดเข้าใจแนวโน้มและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในตลาดหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจการใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสำหรับการวิเคราะห์หุ้น โดยเจาะลึกถึงเทคนิคขั้นสูง รวมถึงวิธีเชื่อมโยงข้อมูลทางเศรษฐกิจกับภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค

 

 


 

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจคืออะไร?

 

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจคือตัวเลขหรือข้อมูลที่สะท้อนถึงสุขภาพของเศรษฐกิจในประเทศ นักวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์มักใช้ข้อมูลเหล่านี้ร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต

 

ประเภทของตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

  • ดัชนีชี้นำ (Leading Indicators) :

     

    ดัชนีชี้นำเป็นตัวชี้วัดที่สามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ เนื่องจากแสดงแนวโน้มก่อนที่เหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดเหล่านี้มีประโยชน์สำหรับการวางแผนและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ

    ตัวอย่างดัชนีชี้นำ:

    • ดัชนีตลาดหุ้น (Stock Market Index):
      การเปลี่ยนแปลงในตลาดหุ้นมักสะท้อนถึงความคาดหวังของนักลงทุนต่ออนาคตทางเศรษฐกิจ เช่น หากดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้น อาจแสดงว่านักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอนาคตอันใกล้
    • จำนวนใบอนุญาตก่อสร้าง (Building Permits):
      การเพิ่มขึ้นของใบอนุญาตก่อสร้างแสดงถึงการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมักเป็นสัญญาณของความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต
    • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI):
      เป็นตัวชี้วัดกิจกรรมในภาคการผลิตและการบริการ ซึ่งค่าดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

     

     

 

  • ดัชนีชี้ตาม (Lagging Indicators)  :

     

    ดัชนีชี้ตามเป็นตัวชี้วัดที่ยืนยันแนวโน้มเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว ตัวชี้วัดเหล่านี้มักสะท้อนข้อมูลที่เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอดีต และมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบความถูกต้องของการคาดการณ์หรือสมมติฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจ

    ตัวอย่างดัชนีชี้ตาม:

    • อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate):
      ตัวเลขการว่างงานมักเพิ่มขึ้นหรือลดลงหลังจากที่เศรษฐกิจผ่านจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดมาแล้ว เช่น การว่างงานที่ลดลงอาจเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
    • กำไรของบริษัท (Corporate Profits):
      ผลกำไรที่รายงานโดยบริษัทต่าง ๆ ช่วยยืนยันแนวโน้มในตลาด เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต กำไรบริษัทมักเพิ่มขึ้นตาม
    • อัตราเงินเฟ้อ (Inflation):
      การเปลี่ยนแปลงในราคาสินค้าและบริการมักเกิดขึ้นหลังจากการขยายตัวหรือชะลอตัวของเศรษฐกิจ

     

     

 

  • ดัชนีชี้พ้อง (Coincident Indicators): 

     

    ดัชนีชี้พ้องเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนสถานะปัจจุบันของเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดเหล่านี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทำให้นักวิเคราะห์สามารถติดตามสภาพเศรษฐกิจในเวลาจริง

    ตัวอย่างดัชนีชี้พ้อง:

    • การผลิตในภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production):
      ตัวเลขการผลิตในโรงงานและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นดัชนีสำคัญที่แสดงถึงความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน
    • ยอดขายปลีก (Retail Sales):
      ยอดขายปลีกสะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของเศรษฐกิจโดยรวม
    • อัตราการจ้างงาน (Employment Levels):
      จำนวนการจ้างงานในภาคส่วนต่าง ๆ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

 

การใช้ตัวชี้วัดหลายประเภทควบคู่กันช่วยให้นักวิเคราะห์ได้ภาพรวมที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับตลาดหุ้น

 


 

ตัวชี้วัดสำคัญและผลกระทบต่อหุ้น

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมีผลต่อหุ้นโดยตรงผ่านการกำหนดความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับกำไรของบริษัท อัตราดอกเบี้ย และสภาวะตลาดโดยรวม 

 

1. ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP): 

GDP เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนสุขภาพของเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์ที่มีความเชี่ยวชาญจะติดตามแนวโน้ม GDP รายไตรมาสและการเติบโตในแต่ละภาคส่วนเพื่อเจาะลึกถึงอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตหรือถดถอย

ผลกระทบต่อหุ้น:

  • การเติบโตของ GDP ที่แข็งแกร่งมักบ่งชี้ถึงกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้หุ้นมีแนวโน้มขาขึ้น
  • การหดตัวของ GDP อาจบ่งชี้ถึงศักยภาพในการทำกำไรที่ลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงกดดันในตลาดหุ้น

 

2. ข้อมูลการว่างงาน: 

ข้อมูลการว่างงานบอกถึงสภาพตลาดแรงงาน แต่การวิเคราะห์ในขั้นสูงมักจะมองลึกลงไปถึงเรื่อง

  • อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน: บ่งบอกถึงสัดส่วนของประชากรที่มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานต่อประชากรทั้งหมด
  • แนวโน้มการเติบโตของค่าจ้าง: ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย

ผลกระทบต่อหุ้น:

  • การว่างงานที่ลดลงอาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีกและการบริการ
  • การว่างงานที่เพิ่มขึ้นอาจบ่งชี้ถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อหุ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการใช้จ่ายของผู้บริโภค

 

3. อัตราเงินเฟ้อ: 

เงินเฟ้อส่งผลต่อกำลังซื้อและกำไรของบริษัท นอกจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) แล้ว นักวิเคราะห์ยังมองสิ่งเหล่านี้ด้วย

  • เงินเฟ้อพื้นฐาน (โดยไม่นับรวมสินค้าผันผวนอย่างอาหารและพลังงาน) :  เป็นตัวชี้วัดที่สามารถวิเคราะห์แนวทางนโยบายของธนาคารกลางได้อย่างแม่นยำ
  • ความคาดหวังต่อเงินเฟ้อ: ตัวชี้วัดจากตลาดตราสารหนี้ที่บ่งชี้ถึงทิศทางเงินเฟ้อในอนาคต

ผลกระทบต่อหุ้น:

  • เงินเฟ้อในระดับปานกลางมักถูกมองว่าเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่แข็งแรง ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้น
  • เงินเฟ้อในระดับสูงอาจลดกำลังซื้อและเพิ่มต้นทุนของบริษัท ส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำไร

 

4. อัตราดอกเบี้ย: ความอ่อนไหวของตลาด

อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลางมีผลต่อทุกสินทรัพย์ การวิเคราะห์ในขั้นสูงจะรวมรวมไปถึง :

  • เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve): เส้นอัตราผลตอบแทนที่กลับหัวมักเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง: อัตราดอกเบี้ยที่ได้มีการปรับค่าผลกระทบจากเงินเฟ้อออกไป เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการกู้ยืมหรือการลงทุน

ผลกระทบต่อหุ้น:

  • การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้มูลค่าหุ้นลดลง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่เติบโตสูงซึ่งต้องใช้การกู้ยืมเงินทุนดำเนินธุรกิจ
  • การลดอัตราดอกเบี้ยมักช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้น

 

5. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI)

CCI สะท้อนความมั่นใจของผู้บริโภค แต่นักวิเคราะห์จะเปรียบเทียบกับยอดการใช้จ่ายจริง เช่น

  • CCI ที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับยอดขายปลีกสูงอาจส่งสัญญาณถึงฤดูกาลจับจ่ายที่แข็งแกร่ง
  • หาก CCI และยอดใช้จ่ายสวนทางกัน อาจเกิดความไม่สมดุลในตลาด

ผลกระทบต่อหุ้น:

  • ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งช่วยสนับสนุนหุ้นในกลุ่มค้าปลีก ยานยนต์ และการท่องเที่ยว
  • ความเชื่อมั่นที่ลดลงอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อหุ้นในอุตสาหกรรมเหล่านี้ เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง

 


 

การรวมตัวชี้วัดเข้ากับกลยุทธ์ขั้นสูง

 

1. การลงทุนตามแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค

 

การลงทุนตามแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคคือการระบุแนวโน้มสำคัญในภาพรวมเศรษฐกิจ เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน หรือการเปลี่ยนแปลงทางประชากร แล้วปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับแนวโน้มเหล่านั้น โดยใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันความถูกต้องของแนวโน้มและประเมินศักยภาพในอนาคต

 

ตัวอย่างการใช้ตัวชี้วัดในแบบจำลองเชิงปริมาณ:

  • การเติบโตของ GDP + ISM PMI = การปรับพอร์ตการลงทุนตามภาคส่วนธุรกิจ (Sector Allocation)

    • GDP Growth: สะท้อนถึงศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
    • ISM PMI: แสดงถึงกิจกรรมในภาคการผลิตและบริการ
    • แบบจำลองนี้ช่วยให้นักลงทุนปรับน้ำหนักในพอร์ตการลงทุนได้ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเมื่อ GDP และ PMI มีแนวโน้มเติบโต

 

  • อัตราเงินเฟ้อ + ผลตอบแทนพันธบัตร = การคาดการณ์ความเสี่ยงของหุ้น (Stock Risk Assessment)

    • Inflation Rate: ใช้วิเคราะห์ผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการ รวมถึงต้นทุนของบริษัท
    • Bond Yields: ตัวบ่งชี้ถึงความคาดหวังของตลาดเกี่ยวกับดอกเบี้ยในอนาคต
    • แบบจำลองนี้สามารถช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงในหุ้น เช่น หากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นควบคู่กับผลตอบแทนพันธบัตร อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะตลาดที่อาจจะหดตัว

 

  • การวิเคราะห์สถานการณ์ (Scenario Analysis)

การวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผลกระทบของสถานการณ์ที่แตกต่างกันในอนาคต เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสินทรัพย์หรือพอร์ตการลงทุนในกรณีต่าง ๆ (เช่น ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยเทียบกับคงอัตราเดิม)วิธีการนี้ช่วยให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์เตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในตลาดได้

 

เพราะฉะนั้น การลงทุนตามแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับแนวโน้มสำคัญของเศรษฐกิจ เช่น การเติบโตของ GDP หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ IUX มอบเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจ พร้อมด้วยบริการสนับสนุนจากทีมงานตลอด 24 ชม. ฟีเจอร์ตั้งค่าลิมิตกำไรขาดทุนช่วยให้คุณกำหนดแผนการลงทุนได้อย่างแม่นยำ สอดคล้องกับแนวโน้มที่คุณคาดการณ์ไว้ เปลี่ยนมาใช้ IUX เพื่อประสบการณ์การลงทุนที่คุ้มค่าด้วยสเปรดที่ต่ำกว่าที่อื่นๆและมีประสิทธิภาพด้วยแพลทฟอร์มที่ทันสมัย

 


 

 

ความท้าทายและข้อจำกัดของตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

 

แม้ว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์และคาดการณ์เศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อจำกัดและความท้าทายที่ควรพิจารณาในการใช้งาน เพื่อให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำและรอบคอบยิ่งขึ้น

 

1. ความล่าช้าของข้อมูล

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัว เช่น GDP หรือ อัตราการว่างงาน มักมีการเผยแพร่ข้อมูลช้ากว่าช่วงเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น:

  • GDP รายไตรมาส: ข้อมูลมักเผยแพร่หลังไตรมาสสิ้นสุดไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลไม่สามารถสะท้อนสภาพเศรษฐกิจในเวลาปัจจุบันได้ทันที
  • อัตราการว่างงาน: มักสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจในอดีต ไม่ใช่สถานการณ์ในขณะนั้น

 

2. ความผันผวนของตลาด

ตลาดการเงินมักตอบสนองต่อข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลนั้นแตกต่างจากความคาดหวังของตลาด ตัวอย่างเช่น:

  • รายงานการจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดการณ์ อาจทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงทันที
  • การประกาศดัชนีเงินเฟ้อที่สูงเกินคาด อาจกระตุ้นให้ตลาดพันธบัตรเกิดแรงขาย

 

3. ความเชื่อมโยงกันของตัวชี้วัด

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวมีความสัมพันธ์และอิทธิพลต่อกัน ซึ่งทำให้การวิเคราะห์แยกตัวชี้วัดแต่ละตัวอาจไม่สะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจได้อย่างครบถ้วน ตัวอย่างเช่น:

  • อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ย: อัตราเงินเฟ้อที่สูงมักนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ซึ่งส่งผลต่ออัตราการกู้ยืมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  • GDP และการจ้างงาน: การเติบโตของ GDP มักสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน แต่ไม่เสมอไปในบางภาคเศรษฐกิจ

 


 

สรุป

 

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักวิเคราะห์สามารถมองเห็นแนวโน้มในเชิงลึกของตลาดหุ้น การใช้ตัวชี้วัดเหล่านี้ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเคลื่อนไหวของตลาดโลก นโยบายการเงิน และภาวะอุตสาหกรรม ช่วยให้นักวิเคราะห์เข้าใจภาพรวมของตลาดได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเป็นเพียงแนวทางที่ช่วยให้เห็นทิศทาง ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ความสำเร็จในการใช้งานตัวชี้วัดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการตีความข้อมูลในบริบทของตลาด ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ และการมองภาพรวมในเชิงรุกคือตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนประสบความสำเร็จในตลาดที่มีความซับซ้อน. 

 

หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

Cover Image Source : Traders work on the floor of the New York Stock Exchange. (Michael Nagle/Bloomberg)