เหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

เหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

ผู้เริ่มต้น
Nov 08, 2024
ทำไมราคาหุ้นของบริษัทอาจตกลงอย่างรุนแรง เรียนรู้เกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ เช่น ผลการดำเนินงานทางการเงินที่ไม่ดี ปัญหาการบริหาร การแข่งขันในตลาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างรวดเร็ว

 

หากคุณกำลังเป็นอีกคนที่เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุน คุณอาจสังเกตว่าราคาหุ้นแต่ละตัวมีความผันผวนและปรับราคาขึ้นลงอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งราคาหุ้นอาจจะพุ่งสูงขึ้นหรืองหรือสูญเสียมูลค่าอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงข้ามคืน แล้วอะไรคือสาเหตุของการลดลงเหล่านี้? การทำความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังการตกของหุ้นสามารถช่วยให้คุณเข้าใจความเสี่ยงของการลงทุนได้มากขึ้น

 

ต่อไปนี้เป็นการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้ราคาหุ้นในบางบริษัทตกลงอย่างรวดเร็ว

 

ปัญหาทางการเงิน

ปัญหาด้านการเงินของบริษัทมักจะเป็นเหตุผลแรกที่นักลงทุนนึกถึงเมื่อหุ้นของบริษัทราคาลดลง ปัญหาการเงินเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

 

  • รายได้ต่ำ: ถ้าบริษัทไม่สามารถขายสินค้าและบริการได้ในปริมาณที่มากพอ รายได้ของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้การเงินของบริษัทอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคง การมีรายได้ที่ต่ำลงไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทขาดกระแสเงินสดที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการในแต่ละวัน แต่ยังสร้างความกังวลให้นักลงทุนที่อาจเห็นว่าบริษัทไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ

 

  • หนี้สินสูง: หลายบริษัทจำเป็นต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการขยายกิจการ ลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ หรือเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจในช่วงที่รายได้ไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมนี้ก็มาพร้อมกับภาระหนี้สินที่บริษัทต้องรับผิดชอบในการชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งอาจสร้างความท้าทายให้กับบริษัทในอนาคต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่รายได้ของบริษัทลดลงหรือไม่เพียงพอต่อการครอบคลุมหนี้สินที่ต้องชำระ

 

  • กระแสเงินสดติดลบ: ถ้าบริษัทมีการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่เข้ามา บริษัทจะพบกับปัญหาทางการเงินที่หลากหลายและซับซ้อน เริ่มจากกระแสเงินสดที่ติดลบ ซึ่งจะทำให้บริษัทไม่สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละวันได้อย่างราบรื่น เช่น การจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าสำนักงาน และค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่นๆ เมื่อรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย บริษัทอาจต้องหาทางแก้ไขโดยการกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เกิดภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

 

ตัวอย่าง: บริษัทอย่าง Toys "R" Us ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักเนื่องจากไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ธุรกิจของ Toys "R" Us ต้องพึ่งพาร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่มีค่าเช่าพื้นที่สูงและค่าบริหารจัดการที่ต้องใช้ทรัพยากรมาก ขณะที่พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่การช้อปปิ้งออนไลน์ ทำให้บริษัทยิ่งสูญเสียลูกค้าให้กับร้านค้าออนไลน์อย่าง Amazon และ Walmart ซึ่งเสนอสินค้าราคาถูกและสะดวกสบายกว่า Toys "R" Us ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นแต่กลับมีรายได้ที่ลดลง

 

เมื่อรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัทเริ่มเผชิญปัญหากระแสเงินสดและมีความยากลำบากในการชำระหนี้สินที่สะสมมาในช่วงขยายกิจการ ทำให้บริษัทต้องพึ่งพาการกู้ยืมเพิ่มเติม ซึ่งเพิ่มภาระทางการเงินและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในที่สุด การขาดทุนที่สะสมและภาระหนี้สินที่มากเกินไปทำให้ Toys "R" Us ไม่สามารถฟื้นตัวได้ และบริษัทถูกบังคับให้ยื่นล้มละลายในปี 2017 ความล้มเหลวทางการเงินและการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ไม่ทันการณ์ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลงจนสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและผู้ถือหุ้น

 

Photographer: Jeenah Moon/Bloomberg

 

 

การบริหารและผู้นำองค์กร

การบริหารและการนำองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความสำเร็จของบริษัท ถ้าบริษัทมี CEO ที่เข้มแข็งและมีความน่าเชื่อถือ ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดจากผู้นำและทีมผู้บริหารสามารถส่งผลลบต่อราคาหุ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น

 

  • ความไม่มั่นคงของผู้นำ: การเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง CEO บ่อยครั้งหรือปัญหาในทีมผู้บริหาร อาจทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่าบริษัทขาดเสถียรภาพหรือมีความไม่แน่นอนในทิศทางการดำเนินงาน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นในบริษัทลดลง

 

  • เรื่องอื้อฉาว: หากบริษัทเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาว เช่น การฉ้อโกง การกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือพฤติกรรมที่ขาดจริยธรรม ก็อาจทำให้บริษัทสูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้าและนักลงทุน สร้างความเสี่ยงต่อการที่ราคาหุ้นจะลดลง

 

ตัวอย่าง: บริษัทเทคโนโลยีอย่าง WeWork ประสบปัญหาด้านผู้นำและการบริหารอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้มูลค่าหุ้นลดลงอย่างหนักและสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทปัญหาของ WeWork เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยถึงปัญหาด้านการบริหารและการตัดสินใจของอดีต CEO อดัม นอยมันน์ (Adam Neumann) ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการใช้เงินที่ฟุ่มเฟือยและการบริหารที่ขาดความรับผิดชอบ

 

นอยมันน์ยังถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัท เช่น การมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการซื้อขายทรัพย์สินกับบริษัทในขณะที่เขายังดำรงตำแหน่ง CEO อยู่ ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำของ WeWork ลดลง และทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารและการสร้างกำไรของบริษัท

 

Photograph by Kate Munsch / Reuters

 

การแข่งขัน

การแข่งขันในตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จและความยั่งยืนของบริษัท เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายใหม่หรือผู้เล่นรายใหญ่ที่มีทรัพยากรและนวัตกรรมมากกว่า บริษัทอาจสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไป ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลต่อรายได้ กำไร และราคาหุ้นของบริษัท การแข่งขันที่รุนแรงยังสร้างแรงกดดันให้บริษัทต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการของตนเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการตลาดอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น

 

  • การสูญเสียลูกค้าให้กับคู่แข่ง: หากคู่แข่งมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพดีกว่า หรือสามารถตั้งราคาที่ต่ำกว่าบริษัท คู่แข่งอาจดึงลูกค้าของบริษัทไปได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ หากคู่แข่งเสนอฟีเจอร์ใหม่หรือคุณสมบัติพิเศษที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า บริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวตามได้จะสูญเสียลูกค้าและรายได้ลดลง 

 

  • ล้าหลังในเทคโนโลยี: ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทที่ไม่สามารถพัฒนาและนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในการดำเนินงานหรือผลิตภัณฑ์จะสูญเสียความนิยมในตลาดได้ง่าย ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน เทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง 

     

    บริษัทที่ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้เทียบเท่าหรือดีกว่าคู่แข่งจะไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทสูญเสียความเกี่ยวข้องกับตลาดและลดโอกาสในการดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ และในที่สุดก็จะส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทลดลงตามไปด้วย

 

ตัวอย่าง: บริษัท แบล็กเบอร์รี่ (BlackBerry) เคยเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟน ด้วยความสามารถในการส่งข้อความที่มีความปลอดภัยและคุณสมบัติพิเศษที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป คู่แข่งรายใหม่ๆ เช่น แอปเปิล (Apple) และ ซัมซุง (Samsung) ได้เข้าสู่ตลาดด้วยสมาร์ทโฟนที่มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า ทั้งด้านหน้าจอสัมผัส ระบบปฏิบัติการ และการใช้งานแอปพลิเคชันที่หลากหลาย แบล็กเบอร์รี่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้สูญเสียลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดอย่างรวดเร็ว ราคาหุ้นของบริษัทจึงลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากความนิยมในตลาดลดลง และในที่สุดแบล็กเบอร์รี่ก็ไม่สามารถแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนได้อีกต่อไป

 

Photographer: Cole Burston/Bloomberg

 

สภาวะเศรษฐกิจ

สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเป็นปัจจัยที่สามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำนวนมากได้พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย แต่ละปัจจัยสามารถสร้างความท้าทายให้กับบริษัทได้ในหลายด้าน และยังมีผลกระทบโดยตรงต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท และการขยายตัวของธุรกิจ

 

  • Recessions (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย): ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ผู้บริโภคและธุรกิจมักจะลดการใช้จ่ายลงเพื่อลดภาระหนี้สินและสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเอง ซึ่งส่งผลให้ยอดขายของบริษัทลดลงอย่างรวดเร็ว บริษัทหลายแห่งจึงต้องเผชิญกับปัญหาด้านกระแสเงินสดและรายได้ที่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่บริษัทจะต้องลดขนาดการดำเนินงานเพื่อประหยัดต้นทุน เช่น การปลดพนักงาน หรือปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงที่ยอดขายลดลง 

 

  • Inflation (เงินเฟ้อ): ภาวะเงินเฟ้อเป็นช่วงเวลาที่ราคาของสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนของวัตถุดิบ แรงงาน หรือค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ได้เพราะจะทำให้ลูกค้าซื้อน้อยลง บริษัทก็จะพบกับปัญหาในการทำกำไรที่ลดลง นอกจากนี้ บางบริษัทที่มีสัญญาระยะยาวกับลูกค้าอาจไม่สามารถปรับราคาได้ตามสถานการณ์ 

 

  • Interest Rates (อัตราดอกเบี้ย): อัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการขยายธุรกิจของบริษัท เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น การกู้ยืมเงินของบริษัทก็จะแพงขึ้น ทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายทางการเงินมากขึ้นในการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ บริษัทที่เคยพึ่งพาการกู้ยืมเพื่อขยายธุรกิจอาจจำเป็นต้องชะลอแผนการลงทุนหรือหยุดโครงการที่วางแผนไว้ ทำให้การเติบโตของบริษัทลดลง 

 

ตัวอย่าง: ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 บริษัทจำนวนมากประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง เนื่องจากความต้องการสินค้าลดลงและการใช้จ่ายของผู้บริโภคหดตัว ส่งผลให้ยอดขายและกำไรลดลง นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ยากขึ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยสูงและธนาคารเข้มงวดในการให้กู้ยืม ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทหลายแห่งลดลงอย่างมาก

 

 


 

 

 

ประเด็นทางกฎหมายและรัฐบาล

นโยบายของรัฐบาลและประเด็นทางกฎหมายสามารถส่งผลกระทบต่อบริษัทได้ในหลายด้าน การบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ๆ อาจทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ซึ่งมีผลต่อกำไรและมูลค่าหุ้น

 

  • การออกกฎระเบียบใหม่: เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายใหม่ บริษัทอาจต้องปรับตัวด้วยการลงทุนในระบบใหม่ๆ เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล การควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือมาตรฐานด้านแรงงาน การปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎเหล่านี้อาจลดกำไรของบริษัทในระยะสั้น และอาจชะลอการเติบโตของบริษัทในระยะยาวหากเป็นข้อบังคับที่เข้มงวด

 

  • คดีความ: การเผชิญกับคดีความใหญ่ เช่น ปัญหาด้านความปลอดภัยหรือข้อมูลส่วนบุคคล อาจสร้างค่าใช้จ่ายสูงในการต่อสู้ทางกฎหมายและกระทบต่อชื่อเสียง ซึ่งทำให้นักลงทุนและลูกค้าขาดความเชื่อมั่น หากบริษัทต้องจ่ายค่าปรับหรือเผชิญคดีบ่อยครั้ง ราคาหุ้นก็อาจลดลง

 

ตัวอย่าง: เฟซบุ๊ก (Facebook) ประสบปัญหาเกี่ยวกับคดีความด้านนโยบายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้จากกรณี Cambridge Analytica ที่บริษัทได้นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้เฟซบุ๊กถูกปรับมหาศาลและต้องปรับปรุงนโยบายความปลอดภัยของข้อมูลให้สอดคล้องกับกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เงินมูลค่ามหาศาลในการปรับตัวครั้งนี้

 

 


 

 

 

ปัจจัยภายนอก

บางครั้ง เหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทก็ยังสามารถส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้ เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถคาดการณ์หรือป้องกันล่วงหน้าได้ แต่สามารถสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ รายได้ และความมั่นคงของบริษัท โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทมีการดำเนินงานในหลายประเทศหรืออุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก

 

  • เหตุการณ์ระดับโลก: สงคราม ความตึงเครียดทางการเมือง หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจสามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะบริษัทที่มีการดำเนินงานในระดับนานาชาติ การห้ามส่งออกหรือการจำกัดการค้าระหว่างประเทศสามารถลดโอกาสการขายและทำให้การขนส่งสินค้าช้าลง ต้นทุนการผลิตก็อาจเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการเมืองยังทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ ส่งผลให้ราคาหุ้นลดลงได้

 

  • โรคระบาด: โรคระบาด เช่น COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม และการขนส่งต้องเผชิญกับความสูญเสียจากมาตรการล็อกดาวน์ที่จำกัดการเดินทาง ซึ่งทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติและรายได้ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานหรือการขนส่งสินค้าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากการปิดเมืองและข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้า

 

  • ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน: การขาดแคลนวัตถุดิบหรือการผลิตช้าเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์(ชิป) การหยุดการผลิตในโรงงานบางแห่ง หรือการขนส่งที่ล่าช้าทำให้บริษัทไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของตลาด สร้างความเสียหายต่อยอดขายและชื่อเสียง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบยังอาจให้บริษัทต้องขึ้นราคาสินค้า ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง ส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทลดลง

 

 


 

 

ความรู้สึกของนักลงทุน

ความรู้สึกของนักลงทุนมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ในหลายกรณี ราคาหุ้นไม่ได้สะท้อนผลการดำเนินงานจริงของบริษัท แต่กลับขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น ความคาดหวัง และอารมณ์ของนักลงทุน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนอย่างมากและบางครั้งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรุนแรงเกินคาด

 

  • การเก็งกำไร: ในบางครั้ง หุ้นอาจมีมูลค่าสูงขึ้นเพราะนักลงทุนตื่นเต้นหรือคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตของบริษัท มากกว่าการพิจารณาจากผลประกอบการจริง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในช่วงที่เทคโนโลยีใหม่ๆ หรืออุตสาหกรรมใหม่ๆ เป็นที่สนใจ ปรากฏการณ์นี้สามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาเก็งกำไรมากขึ้น ทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงและเกิดฟองสบู่ แต่เมื่อความคาดหวังหรือกระแสลดลง ราคาหุ้นก็จะลดลงตามไป ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงอย่างรุนแรง

 

  • Sell-Offs (การเทขาย): เมื่อมีการเทขายหุ้นครั้งใหญ่จากนักลงทุนหลายรายพร้อมกัน ราคาหุ้นก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์นี้มักเกิดจากความตื่นตระหนกในตลาด เช่น เมื่อมีข่าวเชิงลบเกี่ยวกับบริษัท อุตสาหกรรม หรือภาวะเศรษฐกิจ นักลงทุนนับร้อยหรือพันคนอาจขายหุ้นพร้อมกันเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หรือปกป้องการลงทุนของตน การเทขายจำนวนมากทำให้เกิดแรงกดดันต่อราคาหุ้น ทำให้ราคาลดลงอย่างรวดเร็วและอาจสร้างความตื่นตระหนกเพิ่มขึ้น จนเกิดการเทขายเพิ่มขึ้นตามมา เป็นวงจรที่ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำ

 

ตัวอย่าง: ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ฟองสบู่ดอทคอมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการเก็งกำไรที่ส่งผลให้ราคาหุ้นเทคโนโลยีพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นักลงทุนหลายคนเชื่อว่าบริษัทเทคโนโลยีจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต จึงเข้ามาเก็งกำไรจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นพุ่งสูงเกินมูลค่าพื้นฐาน แต่เมื่อบริษัทหลายแห่งไม่สามารถทำกำไรได้ตามคาดหรือไม่มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน ฟองสบู่ก็แตก ความตื่นเต้นและความเชื่อมั่นในตลาดลดลง นักลงทุนแห่ขายหุ้นออก ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรง และทำให้เกิดการขาดทุนมหาศาลในวงกว้าง

 

 


 

 สรุป

โดยสรุปแล้ว มีปัจจัยหลายประการที่สามารถทำให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลงได้อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเงิน ปัญหาด้านการบริหาร การแข่งขันในตลาด หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบที่สำคัญต่อความมั่นคงของราคาหุ้นและความเชื่อมั่นของนักลงทุน การเข้าใจถึงปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับผู้ที่เริ่มต้นลงทุน การติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทและแนวโน้มตลาดอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เข้าใจการทำงานของตลาดหุ้นได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้เข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ


หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน